ครม.ไฟเขียว ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลือง 15-45 บาท เริ่มเก็บ 3 ก.ค. 2566 ฟรีค่าแรกเข้า จ่ายครั้งเดียว สายสีน้ำเงิน-ส้ม-เขียว-Airport Rail Link
วันที่ 27 มิถุนายน 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง สายเฉลิมรัชมงคล (รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT) และสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง)
สาระสำคัญเป็นการกำหนดอัตราค่าโดยสารตามวิธีการในสัญญาสัมปทาน โดยมีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 15 บาท และสูงสุด 45 บาท (23 สถานี)
มาทำความรู้จัก “รถไฟฟ้าสายสีเหลือง”
โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเริ่มทดลองให้บริการแล้ว ตั้งแต่ 3 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา
มีทั้งหมด 23 สถานี ระยะทางรวม 30.4 กิโลเมตร โดยรถไฟฟ้าสายนี้ ครอบคลุมพื้นที่สำคัญ โซนกรุงเทพฯ ตะวันออก เริ่มต้นจากสถานีลาดพร้าว เชื่อมต่อไปยัง หัวหมาก บางกะปิ ลำสาลี พัฒนาการ ศรีนครินทร์ จนไปสิ้นสุดสายที่สำโรง จ.สมุทรปราการ
รถไฟฟ้าสายสีเหลือง เป็นรถไฟฟ้าสายแรก ๆ ของไทย ที่เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail)
การเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆ
นอกจากนี้ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ยังเชื่อมการเดินทางรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ตั้งแต่สถานีลาดพร้าว เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีหัวหมาก เชื่อมรถไฟฟ้า Airport Rail Link และรถไฟทางไกลสายตะวันออก ที่สถานีรถไฟหัวหมาก และสถานีสำโรง ซึ่งเป็นปลายสายของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เชื่อมรถไฟฟ้า BTS สถานีสำโรง
นอกจากนี้ ยังมีรถไฟฟ้าสายสีอื่น ๆ ที่จะตามมาอีกในอนาคต อย่างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่จะเชื่อมต่อกับสายสีเหลืองที่สถานีแยกลำสาลี
3 กรกฎาคม 2566 เปิดบริการเต็มรูปแบบ
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เปิดให้บริการแล้ว 22 จาก 23 สถานี ตั้งแต่สถานีภาวนา จนถึงสถานีสำโรง และเปิดให้ทดลองใช้ ตั้งแต่ 06.00-20.00 น. (ข้อมูล ณ วันที่ 17 มิถุนายน 2566)
และตั้งแต่ 19 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป จะเปิดทดลองใช้สถานีลาดพร้าว ซึ่งเป็นสถานีต้นสายของรถไฟฟ้าสายนี้ และเป็นการเริ่มต้นทดลองให้บริการทั้งระบบ ครบ 23 สถานี จากนั้นจะทยอยขยายเวลาทดลองให้บริการ
จนกระทั่งวันเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ จะเปิดให้บริการตามเวลาให้บริการรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ คือ 06.00-24.00 น. ของทุกวัน
แหล่งข่าว: Prachachat