รฟม.ตีกลับค่าปรับปรุงตั๋วร่วมเฟสแรก รับบัตรรถไฟฟ้าข้ามระบบติงสูงเกินไป สั่งต่อรอง BEM ใหม่ แฉวางแผนพัฒนาสองขยัก ต้องลงทุนซ้ำซ้อน ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ แนะปรับระบบเปิด (Open Loop) ไม่จำกัดรูปแบบจ่ายค่าตั๋ว
ผู้ว่าการการรฟม. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนา”ระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ” (AFC) ให้สามารถรองรับการใช้บัตรโดยสารข้ามระบบ (Interoperable Ticketing System)ว่า บอร์ดรฟม. ยังไม่อนุมัติกรอบวงเงินค่าปรับปรุงระบบหัวอ่านรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงและสายสีน้ำเงิน โดยให้ รฟม.ทบทวนปรับลดวงเงิน และให้เจรจาต่อรองค่าปรับปรุงกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ให้ได้วงเงินที่ดีที่สุด
ในส่วนของสายสีม่วง รฟม.จะลงทุนเอง ส่วนสายสีน้ำเงินทาง BEM ในฐานะผู้รับสัมปทานแจ้งว่ารับผิดชอบค่าใช้จ่ายไม่ไหว ซึ่ง รฟม.จะต้องเจรจาให้ BEM ดำเนินการ ขณะที่ยอมรับว่าการสั่งซื้ออุปกรณ์ยังมีความล่าช้าเนื่องจากติดปัญหาโรคโควิด-19 ส่งผลให้การทำงานเพื่อพัฒนาระบบตั๋วร่วมเพื่อรองรับบัตรข้ามระบบในระยะแรกยังทำได้ไม่เต็มที่
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า จากที่ รฟม.จะต้องเสนอบอร์ดเพื่อขออนุมัติ ดำเนินการจัดทำคำสั่งเปลี่ยนแปลงงาน (Variation Order : VO) เพิ่มงานปรับปรุงหัวอ่านรถไฟฟ้าสายสีม่วง วงเงิน 140 ล้านบาท และสายสีน้ำเงิน วงเงินประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ถือว่าล่าช้า และทำให้การปรับปรุงเพื่อให้สามารถใช้บัตรแมงมุม บัตร MRT Plus ของ รฟม. และบัตร Rabbit ของ BTS สามารถใช้งานร่วมกันได้ข้ามระบบไม่ทันภายในปีนี้แน่นอน
นอกจากนี้ การปรับปรุงหัวอ่านให้รองรับบัตรข้ามระบบได้นั้นยังมีประเด็นในการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการใช้บัตรโดยสารข้ามระบบที่ยังไม่ได้ข้อสรุป อีกทั้งการใช้งานอาจทำให้ผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวก และไม่เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น กรณีเงินในบัตรไม่เพียงพอ จะยังไม่สามารถเติมเงินข้ามระบบได้ ทำให้ผู้โดยสารจะต้องจ่ายเงินสดร่วมด้วย
หรือกรณีบัตรโดยสารสำหรับเด็ก ซึ่ง MRT กำหนด 3 อัตรา คือ เด็กที่มีความสูงไม่เกิน 90 ซม. และอายุไม่เกิน 14 ปี ใช้บริการฟรี เด็กที่มีความสูงตั้งแต่ 91-120 ซม. และอายุไม่เกิน 14 ปี ได้รับส่วนลดค่าโดยสาร 50% ส่วนรถไฟฟ้า BTS ไม่มีบัตรส่วนลดสำหรับเด็ก 50% เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หลังจากปรับปรุงหัวอ่านรองรับบัตรข้ามระบบ ซึ่ง รฟม.และ BTS จะต้องลงทุนหลายร้อยล้านบาทแล้ว ในระยะต่อไปจะต้องลงทุนเพื่อปรับปรุงเป็นระบบเป็น Account Based Ticketing หรือ ABT ระบบเปิด (Open Loop) ซึ่งใช้งานผ่านบัตร EMV (Euro/ Master/ Visa Card) และรองรับไปถึงระบบคิวอาร์โค้ด การสแกนใบหน้าอีก เท่ากับเป็นการลงทุนซ้ำซ้อนและสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุหรือไม่ ซึ่งฝ่ายนโยบายควรต้องทบทวนในเรื่องนี้อีกครั้ง เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกและประโยชน์สูงสุด
ข้อมูลเพิ่มเติม คลิกที่นี่ 👈
#บัตรร่วม #รถไฟฟ้า #MRT #BTS #บีทีเอส #กรุงเทพมหานคร