กรมรางฯ เสนอ 7 มาตรการบรรเทาภาระค่าโดยสารรถไฟฟ้าต่อรัฐบาลใหม่ แก้ปัญหาค่าโดยสารแพงสุดในเอเชีย🚈
แม้ว่า “รถไฟฟ้า” กลายเป็นโครงข่ายช่วยให้การเดินทางของคนกรุงเทพฯและปริมณฑลสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น แต่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเรื่องค่าโดยสารที่แพง ไม่สอดคล้องค่าครองชีพคนไทย ทำให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าไม่ถึงระบบขนส่งมวลชนสาธารณะได้ 👀 กรมรางฯ สนอให้รัฐอุดหนุนเงิน ตั้งกองทุนกำหนดเพดานราคาสูงสุด เก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว ด้านบีทีเอสรอเจรจาโครงสร้างใหม่สายสีเขียวร่วม กทม.สูงสุดไม่เกิน 65 บาท
🔷เปิดค่านั่งรถไฟฟ้า 4 สาย
ปัจจุบันราคารถไฟฟ้าที่ให้บริการ 4 เส้นทาง (ดูตาราง) ส่วนใหญ่ค่าโดยสารจะอยู่ระหว่าง 14-45 บาท หากเดินทางไกลกรณีสายสีม่วงจาก อ.บางใหญ่นั่งไปต่อสายสีน้ำเงินเพื่อเข้าเมือง ค่าโดยสารสูงสุด 70 บาท/เที่ยว หรือสายสีเขียวจาก จ.สมุทรปราการนั่งยาวมาถึงสถานีหมอชิตจะอยู่ที่ 59 บาท/เที่ยว เมื่อรวมไปกลับจะตกวันละ 140 และ 118 บาท รวมค่าใช้จ่ายต่อเดือน (28 วัน) อยู่ที่ 3,000-4,000 บาท/เดือน ยังไม่นับค่ารถเมล์ มอเตอร์ไซค์ที่ต้องควักจ่ายอีก
🔷TDRI ชี้ไทยแพงสุดในเอเชีย
ยิ่งเห็นภาพมากขึ้นเมื่อสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ทำผลศึกษาเปรียบเทียบต้นทุนค่าใช้จ่ายระบบขนส่งสาธารณะรอบกรุงเทพฯและปริมณฑล พบว่าค่ารถไฟฟ้าในเมืองเมื่อวัดตามอำนาจดัชนีการซื้อ มีราคาค่อนข้างสูง หรือเฉลี่ย 28.30 บาท/คน/เที่ยว สูงกว่าของสิงคโปร์กว่า 50% ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 13.3 บาท/คน/เที่ยว ส่วนฮ่องกงอยู่ที่ 16.78 บาท/คน/เที่ยว
ยังระบุอีกว่า ค่าโดยสารระบบรางของไทยสูงกว่าประเทศในภูมิภาคเอเชีย และมีค่าส่วนต่าง ค่าโดยสารระหว่างรถไฟฟ้ากับรถเมล์สูงที่สุด โดยไทยอยู่ที่ 67.4 บาท หรือ 2.14 ดอลลาร์สหรัฐ สิงคโปร์อยู่ที่ 25.73 บาท หรือ 0.83 ดอลลาร์สหรัฐ และฮ่องกงอยู่ที่ 46.5 บาท หรือ 1.5 ดอลลาร์สหรัฐ
🔷กรมรางเสนอรัฐอุดหนุน-เก็บภาษี
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า หากเทียบค่ารถไฟฟ้าของไทยกับต่างประเทศดูแพงกว่า เพราะต่างประเทศรัฐอุดหนุนค่าโดยสารให้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมีการพิจารณากันทุกด้าน เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่สำคัญต้องเป็นธรรมกับทุกคนไม่ใช่เฉพาะผู้ใช้รถไฟฟ้าอย่างเดียว
กรมกำลังสรุปมาตรการเสนอให้กระทรวงคมนาคมและรัฐบาลใหม่พิจารณาเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย คือ 1.เปลี่ยนรูปแบบสัญญาสัมปทานจาก PPP net cost เป็น PPP gross cost 2.กำหนดกรอบราคาขั้นสูงของระบบ 3.กำหนดเงื่อนไขการเชื่อมต่อเพื่อให้ค่าโดยสารไม่สูงเกินไป 4.จัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างหน่วยงาน ด้านเศรษฐกิจและด้านคมนาคม ทำหน้าที่หลักในการกำหนดมาตรฐานอัตราค่าบริการ
5.ยกเว้นเก็บค่าแรกเข้ากรณีเดินทางข้ามระบบโดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายใหม่ที่จะเปิด 6.มาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า และ 7.อุดหนุนค่าใช้จ่ายการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า โดยจะมีการพิจารณาแหล่งเงินหรือกองทุนที่เกี่ยวข้อง โดยปริมาณการอุดหนุนค่าใช้จ่ายการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า เช่น จัดตั้งกองทุน หรือคนที่ใช้รถไฟฟ้าสามารถนำค่าโดยสารมาลดหย่อนภาษีได้ เป็นต้น ต้องหารือร่วมกับกระทรวงการคลังด้วย
“ค่าโดยสารตลอดสาย 20-30 บาทก็เป็นแนวคิดหนึ่ง ต้องดูนโยบายของรัฐบาลใหม่ด้วย เพราะถ้าทำรัฐจะต้องอุดหนุน อาจจะเป็นไปได้ในเส้นทางที่ไม่ยาวมาก”
ข้อมูลเพิ่มเติม คลิกที่นี่
#ค่าเดินทางกรุงเทพ #รถไฟฟ้า